เกี่ยวกับผู้สอน

เกี่ยวกับผู้สอน

อาจารย์ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี 2560 เป็นศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง คอมโพสเซอร์ และโปรดิวเซอร์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ในฐานะศิลปิน นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ นักดนตรี นักร้อง เขาเคยมีผลงานร่วมกับวงดนตรีชื่อ “วงตาวัน” 5 ชุด ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2529-2538 (ค.ศ. 1986-1995) และมีผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยว 4 ชุด คือ Shambala ในปี (2538), Ei (เปลี่ยนผ่าน) (2556/2558), ไตรรงค์ (2557), และอัลบั้ม Hymn (2558) 

นับตั้่งแต่ช่วงยุค 2530s (90s) จนถึงปัจจุบัน เขาเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะคอมโพสเซอร์และโปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินชั้นนำในเมืองไทยหลายต่อหลายคน โดยได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงให้กับศิลปินต่างๆ ไว้มากมายนับร้อยเพลง เช่น ยืนยง โอภากุล และวงคาราบาว, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, สุรสีห์ อิทธิกุล, อัสนี และ วสันต์ โชติกุล, นูโว, ไมโคร, คริสติน่า อากีล่าร์, ทาทา ยัง, มาช่า, ใหม่ เจริญปุระ, Y not 7, นัท มีเรีย, นิโคล เทริโอ, แอม เสาวลักษณ์, โบ สุนิตา, ธงชัย แมคอินไตย์์, Double U, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, มิสเตอร์ทีม, ตุ้ย ธีรภัทร, ปาล์มมี่, ศุ บุญเลี้ยง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีผลงานดนตรีด้านอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือไปจากงานอัลบั้มเพลง เช่น ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีประกอบละคร ดนตรีประกอบสารคดี ดนตรีประกอบโฆษณา.. 

เขาเริ่มสร้างผลงานในฐานะนักแต่งเพลงและคอมโพสเซอร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เริ่มจากการประพันธ์ดนตรีประกอบละครเวทีเรื่อง “หัวเราะกับน้ำตา” (กำกับการแสดงโดย ภาสุรี ภาวิไล) จากนั้นเข้าทำงานเป็นคอมโพสเซอร์ โปรดิวเซอร์ และนักดนตรีบันทึกเสียง กับบริษัทบัตเตอร์ฟลาย ซาวนด์แอนด์ฟิล์ม เซอร์วิส จำกัด โดยได้ฝากผลงานเพลงเบื้องหลังศิลปินต่างๆ รวมทั้งผลงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบละคร สารคดี และดนตรีประกอบภาพยนตร์ไว้มากมาย

ในปี พ.ศ. 2535 เขาได้ย้ายไปทำงานที่บริษัท วอร์เนอร์ มิวสิก (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่ง Executive Producer ต่อมาได้ลาออก และย้ายมาทำงานกับคุณ เรวัต พุทธินันทน์ ที่บริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด) ในตำแหน่ง คอมโพสเซอร์ และ โปรดิวเซอร์ มีผลงานอยู่เบื้องหลังศิลปินชื่อดังจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อคุณเรวัต พุทธินันทน์ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2539 จึงได้ลาออกมาทำงานอิสระ

ในปีพ.ศ. 2542 เขาเริ่มก่อตั้งสถาบันเจนเอ็กซ์อะคาเดมี่ ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคคลากรวิชาชีพสายบันเทิง (ดนตรี สื่อสารมวลชน และมัลติมีเดีย) โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาดนตรีและเทคโนโลยี เป็นคนกำกับและดูแล รวมทั้งเป็นผู้จัดทำหลักสูตรของภาควิชานี้หลายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาประพันธ์เพลง วิชาออกแบบเสียง วิชาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ฯ ซึ่งเขาเป็นผู้สอนอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 12 ปี วิชาเหล่านี้มีการสอนในต่างประเทศมานานแล้ว แต่ในเมืองไทยไม่เคยมีการสอนมาก่อน เขาเป็นผู้บุกเบิกให้มีการสอนวิชาเหล่านี้ขึ้นจนกระทั่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ทำการบรรจุวิชาเหล่านี้เข้าในหลักสูตรในที่สุด นี่จึงเป็นเหตุทำให้เขาหันเหมาทางด้านวิชาการอย่างเต็มตัว จากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เขาได้ย้ายมาเป็น Executive Producer ให้กับบริษัท บัตเตอร์ฟลาย เรคคอร์ด จำกัด ควบคู่ไปกับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดนตรีชาติพันธ์ุในเอเชีย ซึ่งได้ทำมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 โดยเขาได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า “อุษาอัสลิ สายเลือดเดียวกัน สายพันธ์ุนาฏดนตรี” ซึ่งนำเสนอสมมุติฐานใหม่แก่ทางสาขาวิชาดนตรีชาติพันธ์ุวิทยาสองข้อ [1.ในเมื่อมนุษย์มีพันธุกรรมที่เชื่อมโยงเป็นครอบครัวเดียวกันทางสายเลือดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าดนตรีหรือศิลปะวัฒนธรรมอื่น เช่น นาฏศิลป์ จะมีพันธุกรรมเชื่อมโยงเช่นเดียวกันและสัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่น, 2.หากสมมุติฐานข้อแรกเป็นไปได้ ดนตรีก็น่าจะจำแนกออกเป็นสาแหรกวงศ์ตระกูลได้เหมือนที่ภาษาแยกออกได้เป็นตระกูลต่างๆ] เขาได้ทำการเก็บข้อมูลและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเรื่อยมา และยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีความตั้งใจว่าข้อมูลที่ได้รวบรวมมาทั้งหมดจะจัดสร้างเป็นฐานข้อมูลนาฏดนตรีเอเชียเพื่อให้คนอื่นๆ ได้ศึกษากันต่อไป   

ในปีพ.ศ. 2549 เขาได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการ H.M. Blues หรือ “ร้อง บรรเลง เพลงของพ่อ” โครงการเผยแผ่เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ดีขึ้น เพื่อจะได้สืบสานรักษามรดกที่ได้ทรงพระราชทานให้แก่ชาวไทยสืบต่อไปในอนาคต โครงการประกอบด้วยอัลบั้มเพลง ภาพยนตร์สารคดี และคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 เขาได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวหน้าโครงการศิลปะเทิดพระเกียรติครั้งประวัติศาสตร์ “นิทานแผ่นดิน” ที่มีขึ้นเนื่องในวโรกาสครบรอบ 84 พระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ โครงการนำเสนอด้วยบทเพลงชื่อ นิทานแผ่นดิน ที่เล่าความเป็นมาของคำว่า ราชา-พระเจ้าแผ่นดิน รวมทั้งเป็นการทำงานร่วมกันของศิลปินดนตรีมากมายหลายท่านจากทั้งสี่ภาค และศิลปินทัศนศิลป์ระดับชาติอีก 9 ท่าน ที่มาร่วมกันทำ Land Art หรือนิเวศศิลป์ขนาดใหญ่ขึ้น 9 แห่งทั่วประเทศ  ทั้งหมดถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดียาว 10 ตอน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ในปีพ.ศ. 2557 เขารับหน้าที่เป็นมิวสิคไดเร็คเตอร์และคอมโพสเซอร์ ประพันธ์ดนตรีให้กับการแสดงครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งของเมืองไทย เป็นการแสดงมิวสิคอลเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เรื่อง “พระมหาชนก เดอะฟีโนมินอนไลฟ์โชว์” (Mahajanaka The Phenomenon Live Show) ซึ่งจัดแสดงบนเวทีขนาดมหึมาที่สร้างขึ้นกลางทะเลสาปของสวนเบญจกิตติ 

และล่าสุดในปีพ.ศ. 2558, ในคอนเสิร์ท “The Symphonic of Wongtawan Concert” เขาได้ทำการแสดงดนตรีร่วมสมัยที่ผสมผสานดนตรีโปรเกรสซีฟร๊อคเข้ากับดนตรีซิมโฟนี่ออร์เคสตร้า ซึ่งเป็นการกลับมารวมตัวกันแสดงอีกครั้งของวงตาวัน เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของวง ร่วมกับวงออร์เคสตร้า 60 ชิ้นที่ใช้ชื่อว่า มหานครฟิลฮาร์โมนิคออร์เคสตร้า นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในวงการดนตรี  

เขาปิดท้ายปี 2558 ด้วยการแสดงชุด “มหากาพย์นิทานแผ่นดิน” ในงาน “Thailand Countdown 2016” ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การแสดงครั้งนี้ประกอบด้วยวงดนตรีวงใหม่ของเขาที่ชื่อ อุษาอัสลิ ประกอบด้วยนักดนตรีจากไทยและนักดนตรีจากอาเซี่ยนอีก 7 ประเทศร่วมด้วย วงมหานครฟิลฮาร์โมนิคออร์เคสตร้า ทำการแสดงบนเวทีที่สร้างบนเรือขนาดยักษ์ลอยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีพระปรางค์วัดอรุณเป็นฉากหลัง ถ่ายทอดสดเผยแพร่ไปทั่วโลก บทเพลงบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นไทยและชนชาติพี่น้องในสุวรรณภูมิ เริ่มตั้งแต่ปรัมปราคติไทของการสร้างโลกและสวรรค์จากคัมภีร์อาหมบุราณจี มาจนสิ้นสุดที่ยุคปัจจุบัน เป็นการแสดงดนตรีที่ผสานดนตรีหลากหลายชาติพันธ์ุอันก้าวไกลและกว้างขวางกว่าที่เคยทำกันมาก่อน

ปัจจุบันเขาเป็น Executive Producer และ Composer อยู่ที่บริษัท ฮัมมิ่ง เฮ้าส์ จำกัด เป็นอาจารย์พิเศษวิชาการประพันธ์เพลง และ วิชา Film Scoring ให้กับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์พิเศษวิชา Film Sound ให้กับคณะวิศวกรรมดนตรี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (และรับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษในเรื่อง การประพันธ์เพลง การใช้คอมพิวเตอร์ในงานดนตรี และการออกแบบเสียง ให้กับสถาบันต่างๆ หลายแห่ง)

ผลงานเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

 King of Kings (2549)

 นิทานแผ่นดิน (2558)

 เพลง “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” (2559)

 เพลง “พระผู้มาโปรด” (2560)

 เพลง “สยามินทร์ราชามหาวชิราลงกรณ” (2561)

 เพลง “ดุจดั่งสายฟ้า” (2561)

รางวัลทางดนตรี

  • ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี 2560
  • สีสันอะวอร์ดส์ 5 รางวัล ประกอบด้วย
  • สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2535 
  • เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม: “กาม” ศิลปิน-วงตาวัน, คำร้อง/ทำนองโดย พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, เรียบเรียงโดย วงตาวัน
  • ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม: วงตาวัน จากอัลบั้ม “ม็อบ”
  • อัลบั้มยอดเยี่ยม: ม็อบ โดย “วงตาวัน”
  • สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2536
  • ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม : ตาวัน จากอัลบั้ม “12 ราศี”
  • สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2540 (เพลงยอดเยี่ยม: “สองมือ”) 
  • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี จากภาพยนตร์เรื่อง รักแรกอุ้ม (2531)
  • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ จากภาพยนตร์เรื่อง ซีอุย (2548)
  • รางวัล BAD Awards และ Tact Awards จากเพลงโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์ เซเล็กทูน่า เอ็มเคสุกี้ วันทูคอล ฯลฯ
Facebook Comments

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save